ประกันภัย…จ่ายง๊ายง่าย
ในการเอาประกันภัยนั้นใช่ว่าทุกอย่างจะสามารถเอาประกันภัยได้หมดนะคะ เพราะบริษัทผู้รับประกันภัยจะรับประกันเฉพาะความเสี่ยงภัยที่แท้จริงเท่านั้นค่ะ
เกริ่นแบบนี้แล้ว...เชื่อว่าหลายๆ คนคงเกิดอาการงงกันใช่ไหมคะ ว่าอะไรคือความเสี่ยงภัยที่แท้จริง และเขาคิดจากอะไรกันบ้าง ถ้าอย่างนั้นอย่างปล่อยให้งงจนไม่กล้าที่จะทำประกันเลยค่ะ เรามาดูไปพร้อมๆ กันนะคะ
ลักษณะแรก...ความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบนั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เป็นเหตุที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และผู้เอาประกันมิได้ตั้งใจให้เกิด หรือเรียกว่า ‘อุบัติเหตุ’ นั่นเองค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น
แม้นเมืองได้ซื้อประกันอัคคีภัยบวกสัญญาเพิ่มเติมไว้กับบริษัทแห่งหนึ่ง แต่วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ฝนตกหนักทำให้น้ำไหลทะลักเข้าบ้าน จนเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้รับความเสียหาย แบบนี้ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิด บริษัทผู้รับประกันต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้ตามผลประโยชน์ในกรมธรรม์ค่ะ
ในลักษณะนี้ เรามาดูกันอีกตัวอย่างหนึ่งนะคะ
นางสาวมิ่งหล้าเป็นเจ้าของโรงงานแล้วได้ซื้อประกันอัคคีภัยกับบริษัทประกันภัยไว้ รวมถึงซื้อประกันสต็อกสินค้าเพิ่มด้วย ทว่าวันหนึ่งนางสาวมิ่งหล้ากลับวางแผนวางเพลิงโรงงานของตัวเองเพื่อหวังเอาเงินประกัน แบบนี้หากบริษัทผู้รับประกันตรวจสอบได้ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่ะ เพราะถือว่าเป็นการจงใจให้เหตุการณ์เกิดขึ้น แถมไม่สุจริตใจต่อกันด้วยค่ะ
ลักษณะที่สอง…ภัยนั้นต้องมีความเสี่ยงคล้ายกัน แต่มิได้หมายความว่าต้องเหมือนกันนะคะ และมีจำนวนที่มากพอหรือใครๆ ต่างก็ทำกันนั่นเองค่ะ และความเสี่ยงจากภัยนั้นจะถูกเก็บเป็นสถิติเอาไว้เพื่อคำนวณเบี้ยประกันต่อไปค่ะ
ลักษณะที่สาม…ความสูญเสียที่เกิดจากภัยใดๆ นั้นจะต้องตีเป็นมูลค่าได้ และต้องหาต้นตอของสาเหตุที่เกิดได้ ซึ่งก็คือจะต้องบอกสาเหตุที่เกิดความสูญเสียได้ว่า เกิดที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เวลากี่โมง และสามารถตีค่าความเสียหายได้ค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น
นางสาวใจเริงได้เกิดอุบัติเหตุรถชน โดยก่อนหน้านี้ได้ซื้อประกันอุบัติเหตุ วงเงินรักษา 500,000 บาท ชดเชยรายได้วันละ 3,000 บาท เท่ากับว่านางสาวใจเริงจะเบิกค่ารักษากรณีนี้ภายในวงเงินไม่เกิน500,000บาท และชดเชยต่อวันวันละ 3,000 บาท ซึ่งจะจ่ายตามรายละเอียดในกรมธรรม์ แบบนี้เป็นต้นค่ะ
ลักษณะที่สี่…ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะต้องไม่เกิดพร้อมกันจำนวนมากในเวลาเดียวกัน เพราะเหตุการณ์แบบนี้ถือว่าผิดหลักการประกันภัย.ในกรณีประกันอัคคีภัยบริษัทต้องขยายพื้นที่รับประกันออกไปให้ได้มากๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด หรือบริษัทพิจารณาแล้วว่าอาจส่งต่อความเสี่ยงให้บริษัทที่รับประกันภัยต่อเพื่อกระจายความเสี่ยงค่ะ
ลักษณะที่ห้า…ทางบริษัทจะต้องคำนวณหาโอกาสที่จะเกิดความเสียหายในอนาคตได้ แต่แน่นอนว่าเหตุการณ์บางอย่างก็ยากที่จะคำนวณล่วงหน้าได้จริงๆ ดังนั้นในลักษณะนี้ทางรัฐบาลก็อาจจะเข้ามาร่วมรับโอนความเสี่ยงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ภัยจากน้ำท่วม เป็นต้นค่ะ
ลักษณะที่หก…เบี้ยประกันภัยนั้นต้องเหมาะสม สมเหตุสมผล ไม่มากเกินจริงจากทรัพย์ที่เอาประกัน จนทำให้ผู้เอาประกันสามารถซื้อประกันภัยโดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับค่ะ
จาก 6 ลักษณะและตัวอย่างที่คุยกันในวันนี้ คงจะพอทำให้ทุกท่านเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยมากยิ่งขึ้นไปอีกใช่ไหมคะ ซึ่งในการทำประกันภัยต่างๆ นั้นเห็นไหมคะว่าต้อง Win-Win คือเกิดความพอใจทั้งผู้รับประกันและผู้เอาประกันค่ะ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่ายค่ะ
ถ้าท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามจากทีมงาน DD -Wealth ได้เสมอนะคะ เรายินดีให้คำปรึกษาด้วยใจ และห่วงใยทุกท่านเสมอค่ะ
AU , IC
DD-wealth