เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคมของทุกปี อากาศจะมีความชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี บวกกับสภาพอากาศที่แปรปรวนก็ทำให้สุขภาพของเด็กๆ เริ่มถดถอย
ซึ่งโรคภัยที่มากับฝนนั้นมีมากมาย แต่หนึ่งในนั้นที่ดิฉันอยากพูดถึงในวันนี้ คือ ‘โรคมือ เท้า ปาก’
ดิฉันเชื่อมั่นว่าคนที่มีลูกเล็กจะรู้จักโรคนี้แน่นอน เพราะหลายปีที่ผ่านมาเจ้าโรคมือ เท้า ปากนี้ ระบาดหนักในทุกๆ โรงเรียนทั่วประเทศ และลูกๆ ของหลายๆ ครอบครัวก็อาจจะเคยเป็นโรคนี้กันมาบ้างแล้ว
โรค ‘มือ เท้า ปาก’ นี้เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ไม่มีวัคซีนป้องกัน และต้องรักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งหากลูกๆ ติดโรคนี้ขึ้นมาแล้วแน่นอนว่าต้องสร้างความหนักใจให้กับคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านเป็นอย่างมาก
และก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าถ้าลูกเคยเป็นโรคนี้แล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก "ซึ่งไม่เป็นความจริง "
เนื่องจากมือ เท้า ปากเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ดังนั้นถึงแม้เด็กๆ จะหายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อมือ เท้า ปากจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ค่ะ และโรคนี้สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือติดต่อผ่านของเล่น แก้วน้ำ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ดังนั้นโรงเรียน สวนสนุก ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน จึงเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคทั้งทางตรงและทางอ้อม
ถ้าลูกเป็นโรคนี้แล้วล่ะ จะทำอย่างไรดี ? ...จากประสบการณ์ตรงของดิฉัน โดยปกติจะรักษาสุขอนามัยของลูกๆ พอสมควรคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ซึ่งเมื่อทราบข่าวมาว่าเริ่มมีเด็กอนุบาลในโรงเรียน 2 คนเป็นโรคนี้ ความเข้มข้นในเรื่องความสะอาดของคุณแม่ที่มีต่อลูกจึงมากขึ้น จนในที่สุดโรงเรียนก็ประกาศปิดเรียน 1 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรียน แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว...ลูกของดิฉันเป็นเด็กอนุบาล ซึ่งเป็นวัยกำลังเล่นและเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว จับและสัมผัสของต่างๆ เป็นเรื่องปกติ การติดเชื้อโรคนี้จึงตามมา
- อาการเริ่มต้นช่วงแรก ไม่มีไข้ แต่รับประทานอาหารได้น้อยลง หลังจากนั้น 2-3 วัน มีไข้ต่ำๆ 37.9 องศา มีบ่นเจ็บคอ เล่นซนปกติจึงไม่ไปหาหมอ
- ช่วงกลาง ไม่ยอมรับประทานอาหาร ปากแดง มือแดง มีไข้ต่ำๆ งอแง หงุดหงิด
- ช่วงพีคสุดๆ คือ มีไข้สูง ตอนกลางคืน 39.5 องศา ไอ อาเจียน ซึม มีรอยแดงที่ฝ่ามือและในช่องปาก
*** ทั้งนี้...อาการของโรคของเด็กแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน บางคนอาจจะไม่มีไข้ หรือมีเฉพาะไข้ต่ำๆ อย่างเดียวก็ได้
สร้างความเครียดและกดดันให้กับคนเป็นแม่อย่างดิฉันมากเพราะสงสารลูกจับใจ จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถดูแลรักษาเองที่บ้านและหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่เนื่องจากลูกสาวของดิฉันไม่ยอมรับประทานอาหาร อาเจียนตอนกลางคืนบ่อยๆ และไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ จึงตัดสินใจพาไปโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอบอกว่าถือว่ามาเร็ว เพราะบางคนรอจนเป็นแผลพุพองมากจนน่าตกใจแล้วถึงค่อยไปโรงพยาบาล แต่ครอบครัวของเราอยากได้ความสบายใจและการวินิจฉัยที่ถูกต้อง 'การพบแพทย์เด็กเฉพาะทางจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อทำการรักษาให้ถูกอาการ '
และอย่างที่บอกไปว่า โรคมือ เท้า ปากนี้ จะรักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ ก็จะต้องกินยาลดไข้ เช็ดตัว เพื่อให้ไข้ลง รับประทานอาหารอ่อนๆ เพื่อไม่ให้เจ็บแผลที่อยู่ในปากมากขึ้น รับประทานอาหารเย็นๆ เช่น ไอศกรีม เครื่องดื่มเย็นๆ แต่ถ้าเด็กๆ ไม่ยอมรับประทานอะไรเลยจนน้ำหนักลดเร็วเกินไปร่างกายจะอ่อนแอและมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะขาดน้ำ คุณหมอก็จะแนะนำให้ Admit ให้น้ำเกลือทันที แต่ถ้ายังแข็งแรง รับประทานได้ ส่วนใหญ่ก็มักจะกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งควรหยุดเรียน 7-10 วัน และคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์จนหายเป็นปกติ ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติ เช่น ซึมลง ไข้สูงมาก มีอาการเพ้อ หรือปวดศีรษะมากให้รีบพาลูกไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดค่ะ เพราะอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้
อย่างไรก็ดีโรคมือ เท้า ปาก ที่พบส่วนใหญ่มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรงมาก ถึงอย่างนั้นหากมีการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามมา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีการวางแผนการเงินในส่วนนี้เอาไว้ล่วงหน้า เพราะนอกจากโรคมือ เท้า ปากแล้ว ในช่วงหน้าฝนยังมีอีกหลายโรคที่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ RSV ปอดบวม และไม่เพียงแค่เด็กๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นโรคเหล่านี้ได้เช่นกัน การวางแผนในส่วนค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัวจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ค่ะ
DD-Wealth เป็นห่วงสุขภาพทุกท่านเป็นอย่างมาก หน้าฝนนี้อยากให้รักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจให้ดีทั้งครอบครัวนะคะ รวมถึงการรักษาความสะอาดร่างกายและอุปกรณ์ภายในบ้าน เช่น ของเล่น เสื้อผ้า ภาชนะต่างๆ
และที่สำคัญที่สุด...หากเจ็บป่วยก็ควรหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อโดยไม่ตั้งใจแก่บุคคลภายนอกเพื่อลดกระจายการแพร่เชื้อโรคต่างๆ ค่ะ