"เวลา" ใครว่าไม่สำคัญ
ถ้าพูดถึงเรื่องเวลา เราทุกคนคงสงสัยว่าแล้วเกี่ยวอะไรกับเรื่องเงินๆทองๆและการวางแผนการเงิน ซึ่งในโรงเรียนไม่มีการเรียนการสอนเรื่องการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า กว่าเราจะรู้ว่าเวลาเป็นสิ่งมีค่าและสำคัญก็ต่อเมื่อจะหมดเวลาอยู่แล้ว จากประสบการณ์หลายๆครั้งที่มีผู้รับคำปรึกษาสนใจที่จะวางแผนการเงินโดนเน้น”เรื่องการวางแผนเกษียณอายุ” ก็ต่อเมื่อเหลือเวลาในการหารายได้อีกไม่กี่ปี ยิ่งมีเวลาในการทำงานน้อยมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้การวางแผนเกษียณยากมากขึ้นเรื่อยๆสำหรับผู้รับคำปรึกษาที่ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าเลย
เราลองมาดูกันค่ะว่าที่ Jida จะบอกหลังจากนี้จริงหรือไม่
“เวลา”เป็นต้นทุนที่ทุกคนเกิดมามีเท่ากันไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน
“เวลา”ใช้ก็หมด ไม่ใช้ก็หมด ทบต้นสะสมไม่ได้ แล้วแต่ใครจะใช้ทุกวินาทีให้มีคุณค่าและประโยชน์สูงสุด
“เวลา” เป็นสิ่งเดียวที่เงินซื้อไม่ได้ เวลาเมื่อผ่านไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับได้
คราวนี้เรามาดูว่า เวลา เกี่ยวอะไรกับเรื่อง วางแผนการเงิน
สมมุติว่า มีเป้าหมาย อยากมีเงินเก็บซัก 5 ล้านบาท ตอนอายุ 60ปี จะเริ่มเก็บตอนไหนดี?
โดย สมมุติผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 10% ต่อปี
เริ่มอายุ 20 ปี เก็บเดือนละ 791 บาท อายุ 60 ปี มีเงิน 5,000,000 บาท
เริ่มอายุ 30 ปี เก็บเดือนละ 2,212 บาท อายุ 60 ปี มีเงิน 5,000,000 บาท
เริ่มอายุ 40 ปี เก็บเดือนละ 6,584 บาท อายุ 60 ปี มีเงิน 5,000,000 บาท
เริ่มอายุ 50 ปี เก็บเดือนละ 24,409 บาท อายุ 60 ปี มีเงิน 5,000,000 บาท
ตามตารางเลยจร้า
| |
จากรูป การเริ่มต้นเร็ว หมายถึง เงินต้นที่ใช้น้อยกว่า เพราะมีเวลานานที่จะทำให้เงินงอกเงย
คำถามที่ว่า “เริ่มเมื่อไหร่ดี”ที่มีคำตอบให้แล้วนะคะ เวลาในที่นี่คืออายุที่เปลี่ยนไป ย้อนกลับไม่ได้ เมื่อย้อนกลับไม่ได้ วันนี้เวลานี่ เหมาะที่สุดที่เราจะเริ่มวางแผนการเงินรอบด้านให้กับตัวเอง Jida ยังคงคำแนะนำ คิดจะเริ่ม ททท. ทำทันที เพื่อตัวเราเองค่ะ
ถ้าอยากรู้ว่า...เวลา 1 ปี มีค่าแค่ไหน...ให้ถามนักเรียนที่สอบตก ไม่ได้เลื่อนชั้น
ถ้าอยากรู้ว่า...เวลา 1 เดือน มีค่าเท่าไร ให้ถามมารดาที่คลอดบุตรก่อนกำหนด
ถ้าอยากรู้ว่า...เวลา 1 สัปดาห์ มีค่าเท่าไร ให้ถามบรรณาธิการหนังสือรายสัปดาห์
ถ้าอยากรู้ว่า...เวลา 1 ชั่วโมง มีค่าเท่าไร ให้ถามคู่รัก...ที่รอเวลาพบกัน
ถ้าอยากรู้ว่า...เวลา 1 นาที มีค่าเท่าไร ให้ถามคนที่พลาดจากการขึ้นเครื่องบิน
ถ้าอยากรู้ว่า...เวลา 1 วินาทีมีค่าเท่าไร ให้ถามคนที่รอดจากอุบัติเหตุอย่างหวุดหวิด
ถ้าอยากรู้ว่า...เวลาเสี้ยววินาที มีค่าแค่ไหนให้ถามนักกีฬาที่ได้ "เหรียญเงิน" โอลิมปิค
ถ้าอยากรู้ว่า ชีวิตหลังเกษียณจะมีความสุขมากแค่ไหน ให้ถามตัวเองว่า “จะเริ่มเก็บออมลงทุนเพื่อตัวเองเมื่อไหร่ดี”
Jidapa Srinuang, CFP®
นักวางแผนการเงิน