คุยกันก่อนเกษียณ "ตอน มีเท่าไหร่พอ?"

คุยกันก่อนเกษียณ "ตอน มีเท่าไหร่พอ?"

"มีเท่าไหร่พอ?"


    ในปัจจุบันมีสถาบันวิจัยหลายแห่งได้ทำการสำรวจอายุเฉลี่ยของประชากรชาวไทย ซึ่งผลที่ได้พบว่าในปี พ.ศ. 2559 คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่าในอดีต โดยทั้งนี้ ผู้ชายไทยจะมีอายุเฉลี่ย 72 ปี และผู้หญิง 79 ปี ซึ่งการที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น ย่อมหมายความว่าเราจะมีระยะเวลาดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปหลังจากที่เกษียณอายุนานขึ้น

 

 

การเกษียณอายุ หมายถึง การหยุดทำงานและเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และที่สำคัญคือด้านเศรษฐกิจ

       ทำไมผมถึงให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่นๆ ทั้งนี้เพราะการเกษียณอายุนั้นหมายความรวมถึงว่า คุณจะ ‘ไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป’ทั้งๆ ที่ในทุกๆ วันคุณยังต้องใช้จ่ายเพื่อการกินอยู่มากมาย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพที่นับวันก็ยิ่งจะเสื่อมถอยลงอีกด้วย

       ถึงตรงนี้คุณอาจจะมีคำถามว่า “แล้วเราต้องมีเงินเท่าไร จึงจะพอใช้สบายๆ ไปตลอดชีวิต” จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างของแต่ละคนนะครับ ผมคงบอกเป็นจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ แต่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและทำให้คุณเห็นภาพมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างด้วยการคำนวณตัวเลขที่ยังไม่รวมเงินเฟ้อโดยการลองใช้สูตรคำนวณนี้ครับ


จำนวนเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณ

 

 

ตัวอย่าง

คุณหญิงตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ 20 ปี (ขออนุญาตคิดอายุกลมๆ นะครับ)

ถ้าคุณหญิงมีค่าใช้จ่ายปัจจุบัน                         50,000 บาท/เดือน
ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะเท่ากับ                       25,000 บาท/เดือน
(50% ของ 50,000 ) หรือประมาณ                 300,000 บาท/ปี

จากนั้นก็นำไปคูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ คือ 20 ปี นั่นหมายความว่าจะต้องมีเงินเตรียมไว้ใช้หลังจากอายุ 60 ปี จำนวน 6,000,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว


*จากตัวอย่างนี้ผมขอย้ำว่า ผมไม่ได้คำนวณเพิ่มค่าอัตราเงินเฟ้อและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกนะครับ*

       ปัจจุบันระบบการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเองก็ยังไม่มีระบบรองรับที่เพียงพอ แม้ว่าจะมีกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับคนทำงาน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แม้แต่ประกันชีวิตก็ตาม ทว่าจำนวนเงินก้อนที่คาดว่าจะได้รับจากการเก็บออมดังกล่าว ก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุอยู่ดี

      ดังนั้นหากเราไม่มีการวางแผนชีวิตของตัวเองอย่างดีเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก็มีแนวโน้มที่ว่าเราอาจจะต้องกลับมาตรากตรำทำงานในตอนสูงอายุเพื่อที่จะเลี้ยงดูตัวเอง หรืออาจกลายเป็นภาระของลูกๆ หลานๆ ในการรับเลี้ยงดูเราต่อไป

       เราจึงควรเริ่มวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้มีช่วงระยะเวลาพอสมควรให้เงินได้งอกเงย ตามแนวคิดที่ว่า ‘ออมก่อนรวยกว่า’ เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของตัวคุณเอง

 

       คราวหน้าเราจะมาสำรวจกันว่า ‘สถานะทางการเงินของคุณเป็นอย่างไร ’ เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนการเกษียณอย่างสุขใจครับ

TOY DD
IC


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
*สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
**ข้อมูล replacement rate ศึกษาโดย Deloitte & Touche จากหนังสือการบริหารการเงินส่วนบุคคล