ภาษีกับการลงทุนผ่านกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) ในภาษาที่คนใช้กันติดปากว่า “กองทุนรวม RMF” เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้ออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ และกองทุนรวม RMF นี้ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ด้วย มาทำความรู้จักกันให้มากขึ้นนะครับ กองทุนรวม RMF แต่ละกองมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ขึ้นอยู่ว่า นโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร การลงทุนก็จะมีลักษณะที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นการเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF จึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนการลงทุน ในเบื้องต้นนี้เราจะมาดูประเภทของกองทุนรวม RMF กันว่ากองทุนนี้มีการลงทุนแบบใดบ้าง
1.
กองทุนรวม RMF ที่ลงทุนในตราสารแห่งทุน(Equity Fund) กองทุนประเภทนี้ลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ดังนั้นกองนี้จึงมีความเสี่ยงสูงเหมาะสำหรับผู้มีรับความเสี่ยงได้สูง จึงไม่แปลกที่จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง ในทางตรงกันข้ามก็อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ตั้งใจไว้สูงเช่นกันด้วยเหมือนกันนะครับ
2.
กองทุนรวม RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้(Fixed Income Fund) เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก หลักทรัพย์อื่นๆ เพื่อหาดอกผลตามที่สำนักงาน กลต.กำหนด กองทุนนี้มีความเสี่ยงต่ำ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ชอบความปลอดภัยของเงินต้น ไม่ชอบความเสี่ยงมาก ก็อาจจะพิจารณากองนี้เป็นทางเลือก แต่ผลตอบแทนก็อาจจะไม่สูงมากเหมือนกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนนะครับ
3.
กองทุนรวม RMF แบบผสม(Mixed
Fund) เป็นกองทุนรวมที่นำการลงทุนในตราสารหนี้และการลงทุนในตราสารทุนมาผสมกันอยู่ในกองเดียวกัน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
1. กองทุนรวม RMF แบบผสมที่กำหนดสัดส่วนการลงทุน
โดยผู้จัดการกองทุนหรือบริษัทจัดการกองทุน
2. กองทุนรวม RMF แบบผสมที่กำหนดสัดส่วนการลงทุน
ในตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่งต่ำกว่า 65%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม กองทุนแบบผสมนี้เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ระดับกลาง
เมื่อเราเข้าใจประเภทการลงทุนในกองทุนรวมRMF แล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจกฎกติกา และข้อจำกัดการลงทุน
เงื่อนไขการลงทุน
1.
เงินที่ลงทุนในกองทุนรวม RMF ต้องเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 และเป็นบุคคลธรรมดา
2.
เงินลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ในแต่ละปี จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมินหรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี (แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า)
3.
จำนวนเงินที่ซื้อสูงสุดไม่เกิน 15%ของเงินรายได้พึงประเมินที่ได้รับแต่ละปี ทั้งนี้เมื่อรวมเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิตประเภทบำนาญ ต้องมีรวมไม่เกิน 500,000 บาท
คราวนี้ใครที่มีคุณสมบัติตามนี้ก็สามารถใช้สิทธิการลงทุนประะเภท RMF ได้แล้ว แต่กฎกติกายังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องรู้เพื่อป้องกันการผิดเงื่อนไข ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการลงทุนประเภทนี้ เรามาดูว่ามีอะไรที่ต้องรู้และระวัง มิเช่นนั้นการใช้สิทธิจะไม่เกิดประโยชน์และสร้างความเสียหายจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎกติกา ระเบียบกล่าวว่า
1.
ผู้ลงทุนในกองทุนRMF ต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปีนับตั้งแต่การซื้อครั้งแรก(โดยการนับวันชนวัน) ถ้าขายก่อนถือว่า ผิดเงื่อนไข เมื่อขายหรือไถ่ถอน ต้องนำผลประโยชน์ที่ได้ไปเสียภาษีบุคคลธรรมดา
2. ผู้ลงทุนต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ถ้าอายุต่ำกว่า 55 ปีถือว่า ผิดเงื่อนไข ต้องคืนสิทธิภาษีที่ได้รับประโยชน์ทั้งหมด (ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไปแต่ถือหน่วยลงทุนน้อยกว่า 5 ปี ถือว่า ผิดเงื่อนไข ต้องคืนสิทธิทางภาษีด้วย) หลักเกณฑ์การขายต้องดูข้อ1. และข้อ2.เป็นหลัก
3. การลงทุนสามารถระงับการซื้อหน่วยลงทุนได้ 1 ปี (ต้องไม่ติดต่อมากกว่า 1 ปี) มิเช่นนั้นถือว่า ผิดเงื่อนไข
4.
การซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดที่จะได้รับสิทธิทางภาษี ถือว่า ผิดเงื่อนไข เมื่อขายหรือไถ่ถอน ต้องนำผลประโยชน์ที่ได้ไปเสียภาษีบุคคลธรรมดา
5.
กรณีทุพพลภาพ ต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นบุคคลทุพพลภาพไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ถือว่าไม่ผิดเงื่อนไข
6.
กรณีเสียชีวิต ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียชีวิตในระหว่างถือหน่วยลงทุน ถือว่า ไม่ผิดเงื่อนไข
7.
การโอนย้าย/สับเปลี่ยน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มีคำสั่งโอนย้าย/สับเปลี่ยน
การลงทุนในกองทุนรวม RMF ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้การวางแผนเพื่อการเกษียณที่หลายคนคาดไม่ถึง เป็นเรื่องง่ายโดยการออมผ่านกองทุนรวม RMF และคุณยังสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี ซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่คุ้มค่ามาก การเตรียมแผนเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้มีแหล่งเงินมากเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเกษียณ
สำหรับกองทุนรวม RMF เป็นการลงทุนที่ต้องมีการศึกษาเพื่อให้เข้าใจในรายละเอียดการลงทุน รวมถึงกฎกติกา ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องของภาษี และแผนการเงินในอนาคตเกิดข้อผิดพลาด ทั้งนี้คุณสามารถศึกษาได้จากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรโดยตรง หรือผู้ชำนาญการเรื่องการวางแผนภาษี และนักวางแผนการเงิน ซึ่งจะทำให้คุณได้ประโยชน์จากการวางแผนภาษีและแผนการเงินเพื่อเกษียณ คุณว่า..จริงไหม?
Toy DD
IC