ออมทรัพย์หรือลงทุนดี?
สุนทรภู่ ครูกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยกล่าวว่า..
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ
ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล
จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดรันทดใจ
จะเห็นว่า ในสมัยก่อนก็มีการสอนให้ออมกันมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ที่ปู่ย่าตายาย สอนให้เก็บออมเงินกันตั้งแต่เด็ก ๆ ผู้เขียนยังจำได้อีกว่า สมัยเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่จะให้กระปุกออมสิน ทุกวันก็จะได้รับเงินค่าขนม เงินที่เหลือจากโรงเรียนก็จะมาหยอดกระปุกจนเต็ม แล้วจะนำไปฝากที่ธนาคาร เมื่อก่อนดอกเบี้ยธนาคาร สูงถึง16%-17% ทำให้ฝากเงินไว้ไม่นานก็มีเงินในบัญชีอยู่มากเลยทีเดียว
หลังจากนั้นไม่กี่ปี ดอกเบี้ยธนาคารก็ค่อย ๆ ลดลง ทำให้เงินที่ฝากไว้ได้รับดอกเบี้ยน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ดอกเบี้ยแต่ละธนาคารอยู่ที่ประมาณ 0.5%
มองสมุดบัญชีทีไรก็จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน แต่ผู้เขียนคิดว่าคนโดยส่วนใหญ่ก็ยังเคยชินกับการฝากธนาคาร วัตถุประสงค์หลัก ๆ คงจะไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องดอกเบี้ยเท่าไรแล้ว แต่น่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของเงิน และสภาพคล่องที่สามารถเบิกถอนใช้ได้สะดวก หรือเดินบัญชีไว้ทำธุรกิจให้มีเครดิตมากกว่าเหตุผลเรื่องของการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ
เมื่อโลกของการเงินมีการเปลี่ยนแปลง และเชื่อมต่อถึงกันแบบ”ไร้พรหมแดน” ธรรมชาติของการลงทุน เงินย่อมเคลื่อนที่ไปยังที่ ๆ มีผลตอบแทนสูงเสมอ โลกของการเงินได้ย่อส่วนการค้าขาย เศรษฐกิจโลกถึงกันหมด ความรู้เรื่องการลงทุนเริ่มมีการต่อยอด ทำให้การลงทุนเรื่องการเงิน เริ่มมีบทบาทมากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด
หลาย ๆ คนมีคำถามว่า “ออมทรัพย์ดี หรือลงทุนดี “ สำหรับผู้เขียนคิดว่า
การออมทรัพย์เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ประโยชน์ที่จะได้จากการออมทรัพย์ คือ เรื่องของสภาพคล่อง เบิกถอนใช้ยามฉุกเฉินได้ดี แต่ในส่วนการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับ เป้าหมาย และระยะเวลาในการลงทุน
การลงทุนประเภทใดที่จะสามารถตอบโจทย์ได้ดี ต้องพิจารณากันอย่างละเอียด การลงทุนก็มีหลากหลายประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะจำเพาะที่ไม่เหมือนกัน บ้างมีความเสี่ยงสูงแต่พ่วงมาด้วยผลตอบแทนงาม ๆ ใครรับความเสี่ยงได้ และกล้าได้กล้าเสีย ก็อาจจะได้ลุ้นกับผลตอบแทนที่ได้รับสูง แต่ก็มีการลงทุนบางประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ได้ผลตอบแทนน้อยหน่อย แต่สบายใจ นั่นหมายความว่าปัจจัยสำคัญคือ ควรเลือกการลงทุนให้เหมาะสม !! ตอนนี้หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า ต้องเริ่มต้นเลือกการลงทุนอย่างไร ??
ก่อนอื่นเราควรจะต้องทราบก่อนว่า เป้าหมายในการลงทุน เพื่ออะไร? รวมทั้งระยะเวลาในการลงทุน? หลังจากนั้นตรวจสอบตัวเองก่อนว่ารับความเสี่ยงได้ในระดับใด ด้วยการทำแบบประเมินความเสี่ยง รวมถึงข้อจำกัดการลงทุนที่แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น ข้อจำกัดเรื่องของภาษี อยากให้การลงทุนใช้ประโยชน์เรื่องภาษีได้ด้วย เนื่องจากแต่ละปีเสียภาษีจำนวนมาก ก็จะแนะนำลงทุนในกองทุนรวมประเภท
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
เช่น LTF, RMF เป็นต้น ขั้นตอนถัดไป คุณอาจจะต้องได้รับคำปรึกษา ในเรื่องการคิดอัตราผลตอบแทนคาดหวัง รวมถึงการคำนวนเปรียบเทียบการลงทุนในแต่ละประเภทที่คุณสนใจ คำนวนหาผลลัพธ์สุดท้าย (เป้าหมาย) ว่าได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่? และเลือกประเภทการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้และข้อจำกัดของตนเอง ที่สำคัญต้องมีระยะเวลาให้กับการลงทุนนั้น ๆ และอย่าลืมประเมินด้วยนะครับว่า ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเปล่า
ขอย้ำเตือน “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาและพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน” เรื่องการลงทุน ไม่ได้น่ากลัวนะครับ แต่การลงทุนนั้นผู้ลงทุนควรตระหนักรู้ และรอบคอบในการลงทุน เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของการลงทุน โลกของการเงินในปัจจุบันมีความหลากหลาย และมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคุณสามารถเรียนรู้เอง หรือขอรับคำปรึกษาจากผู้รู้เรื่องนี้ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นักวางแผนการเงิน เป็นต้น
ออมทรัพย์ หรือลงทุนอะไรดีกว่า คงจะสรุปได้ว่า ควรมีทั้งสองอย่าง ออมเพื่อใช้ในปัจจุบัน กับลงทุนเพื่อใช้ในอนาคต
ถ้าคุณออมอย่างเดียวเงินเฟ้ออาจจะไล่ตามคุณทัน เงินที่ออมมาอาจจะไม่เพียงพอกับเป้าหมายที่คุณต้องการ คงต้องเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่านะครับ
TOY DD
IC